อธิการบดี มมส ร่วมกับจิตอาสาคณะเภสัชศาสตร์ บรรจุขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า เตรียมส่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

วันนี้ (11 ตุลาคม 2564) ณ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่ให้กำลังใจจิตอาสาคณะเภสัชศาสตร์ พร้อมทั้งเทขี้ผึ้งบรรจุยาและติดฉลากลงบนตลับ ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงชนัตถา พลอยเลื่อมแสง คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจิตอาสา กำลังช่วยกันเร่งบรรจุยาและติดฉลากตลับขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า จำนวน 3,500 ตลับ เพื่อเตรียมนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยมหาสารคามและจังหวัดมหาสารคาม ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี

รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มอบหมายให้คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ ผลิตขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า เพื่อ แจกจ่ายประชาชนทารักษาโรคหลังเกิดน้ำท่วม ภายใต้การบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม พร้อมส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมรอบพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและพื้นที่ใกล้เคียง ให้มีกำลังใจในการต่อสู้ พร้อมสนับสนุนขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะเริ่มลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ อาหารแห้ง น้ำดื่ม และครีมขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในวันที่ 13 ตุลาคม 2564 นี้

อาจารย์เภสัชกรกรีพล แม่นวิวัฒนกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า หรือ Whitfield’s Ointment เป็นยาที่มีสรรพคุณที่ช่วยรักษาเชื้อรา ที่จะพบในพื้นที่น้ำท่วมขัง ช่วยลดอาการเท้าเปื่อย ซึ่งปัจจุบันยาหรือเวชภัณฑ์ มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เล็งเห็นถึงความเดือนร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทางคณะฯจึงอาสาผลิตครีมขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย

สำหรับขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า มีส่วนผสมจากตัวยา Benzoic acid, Salicylic acid, Sulfur เป็นตัวที่ช่วยในการรักษาเชื้อราและบรรเทาอาการคัน นำมาหลอมละลาย แล้วบรรจุลงในตลับ พักไว้ให้เย็น ก่อนจะปิดฝา ติดฉลากแนะนำวิธีใช้ยา และเตรียมแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 3,500 ตลับ

ภาพกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ FB : Mahasarakham University << Click
ภาพ/ข่าว : อภิราม ทามแก้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ติดต่อเรา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม รหัสไปรษณีย์ 44150
  • 043-754360
  • pharmacy@msu.ac.th