ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและความปลอดภัยของยาห้าราก
- โดย รองศาสตราจารย์สมศักดิ์ นวลแก้ว
ยาห้ารากเป็นตำรับยาแผนโบราณ ประกอบด้วย รากชิงชี่ (Capparis micracantha DC.) รากย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) รากเท้ายายม่อม (Clerodendrum indicum (L.) Kuntze) รากคนทา (Harrisonia perforata (Blanco) Merr.) และรากมะเดื่อชุมพร (Ficus racemosa L.) สรรพคุณ ใช้กระทุ้งพิษไข้ต่าง ๆ หรือถอนพิษต่าง ๆ แก้ไข้ต้นมือ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัว แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต (กองการประกอบโรคศิลปะ, 2542a) ใช้รักษาอาการไข้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยมีชื่อเรียกตำรับยานี้หลายชื่อได้แก่ ยาเบญจโลกวิเชียร ยาแก้วห้าดวง และยาเพชรสว่าง (กองการประกอบโรคศิลปะ, 2542) ในหนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำรายาแผนไทยที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐาน ได้กล่าวถึงสรรพคุณของยาห้ารากในการรักษาอาการไข้ไว้ในคัมภีร์ตักศิลา โดยให้ใช้ตำรับยานี้เพื่อกระทุ้งพิษไข้ (การทำให้พิษไข้ถูกขับออกมาภายนอก) ให้ออกมาก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงใช้ยาตำรับอื่น ๆ ต่อไป โดยใช้กับไข้พิษ ได้แก่ ไข้รากสาด ไข้อีดำอีแดง ไข้มาลาเรีย ไข้มหาเมฆ ไข้มหานิล เป็นต้น อาการทั่วไปของพิษไข้ คือปวดศีรษะ ตัวร้อนจัดประดุจเปลวไฟ ปากแห้ง ฟันแห้ง น้ำลายเหนียว ตาแดงคล้ายสายเลือด ร้อนใน กระหายน้ำ มือเท้าเย็น มีเม็ดขึ้นตามร่างกาย เม็ดนั้นเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สีต่าง ๆ กัน ดำก็มี แดงก็มี เขียวก็มี เป็นต้น (กองการประกอบโรคศิลปะ, 2542b และ บุษบา, 2542)
ยาห้าราก เป็นตำรับยารักษาอาการไข้ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีส่วนประกอบและวิธีใช้ดังนี้
สูตรตำรับ ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากไม้เท้ายายม่อม หนักสิ่งละ 20 กรัม
ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไข้
ขนาดและวิธีใช้
ชนิดผง
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ 6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ
ชนิดแคปซูลและชนิดเม็ด
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ
ข้อควรระวัง
- ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
- หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
- ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน (คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ, 2559