เพชรสังฆาต
- โดย รองศาสตราจารย์สมศักดิ์ นวลแก้ว
1. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (Botanical descriptions)
ชื่อสมุนไพร : เพชรสังฆาต
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cissus quadrangularis L.
ชื่อสามัญ : Edible - stemed Vine
ชื่อพ้อง : ขั่นข้อ(ราชบุรี), สันชะควด(กรุงเทพฯ), สามร้อยต่อ (ประจวบคีรีขันธ์), แป๊ะฮวยหันขัดเช่า(จีน)
วงศ์ : Vitaceae
เป็นไม้เลื้อย ลำต้นเป็นปล้องๆ มีสี่เหลี่ยม แต่ละปล้อง หรือ ข้อจะยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ตามข้อจะมีมือสำหรับจับหรือเกาะ ผิวของเถาเป็นสีเขียว เมื่อโตขึ้นจะเลื้อยพันตามต้นไม้ และแตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเดี่ยว ออกข้อละ 1 ใบ บริเวณปลายเถา รูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร ขอบใบอ่อนมีสีแดงและเป็นหยักห่างๆ ยอดอ่อนที่แตกออกใหม่มีสีแดงเรื่อๆ ดอกออกตรงข้ามใบเป็นช่อ ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกด้านนอกสีเขียวแกมเหลือง โคนกลีบมีสีแดง กลีบด้านในสีขาวแกมเขียว ผลเป็นผลสดออกเป็นพวง แต่ละเม็ดโตขนาดเท่าลูกเดือย ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะมีสีแดงเมื่อสุกจะมี สีดำ
2.1.1 การขยายพันธุ์
เพชรสังฆาตขึ้นได้ทั่วไปในดินแทบทุกชนิด ชอบดินร่วนซุยมีอินทรียวัตถุและไม่มีน้ำขัง ปลูกขึ้น ง่าย ทนแล้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เถาปักชำ นำเถาที่สมบูรณ์ตัดเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนให้มีข้อติดอยู่ 1-2 ข้อ ปักชำลงในดินโดยให้ข้อฝังอยู่ในดิน 1 ข้อ รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อแตกยอดใหม่ ควรทำที่ค้างให้ลำต้นเจริญเลื้อยเกาะ และหมั่นตัดแต่งเถา หลังปลูกประมาณ 2 ปี จึงตัดเถามาใช้ทำยาได้ 6
2.1.2 สรรพคุณตามตำรับยาแผนโบราณ 7
ราก : รักษากระดูกแตก-หัก
เปลือก: แก้หูน้ำหนวก แก้เลือดกำเดา แก้ประจำเดือนไม่ปกติ ช่วยเจริญอาหาร ขับน้ำเหลืองเสีย
ใบ : รักษากระดูกหัก รักษาโรคลำไส้ ขับน้ำเหลืองเสีย แก้ริดสีดวงทวาร
เถา : แก้กระดูกหักซ้น ขับลมในลำไส้ ขับผายลม แก้จุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ริดสีดวงทวาร