Site Overlay

บทความ การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์: เป็นไปได้หรือ?

การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์: เป็นไปได้หรือ?

ผศ.ดร.กฤษณี สระมุณี

วัตถุประสงค์

  • เพื่อรวบรวมรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์
  • เพื่อวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์
  • เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์

 วิธีการรวบรวมข้อมูล

สืบค้นวรรณกรรมในฐานข้อมูล google และ PubMed ด้วยคำค้น คือ ‘online teaching’ AND ‘advantage’ AND ‘pharmacy’

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์

ลักษณะของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์มี 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ synchronous และ asynchronous

synchronous หมายถึง การเรียนการสอนที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องเจอกันในเวลาเดียวกันผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้เกิดการซักถามหรือโต้ตอบกันได้ทันที ส่วน asynchronous นั้นหมายถึง การเรียนการสอนที่ผู้สอนจัดเตรียมเอกสารและสื่อต่าง ๆ upload ไว้บนระบบแล้วนิสิตสามารถเข้ามาเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ (Salter et al., 2014; Lorenzoni et al., 2019)

สื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์มีหลายรูปแบบ เช่น ไฟล์เอกสารบรรยาย ไฟล์เอกสารประกอบการสอน วีดิโอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ virtual patient ซึ่งเข้าใจว่าเหมือนกับผู้ป่วยจำลองที่มาเจอกับนิสิตผ่านช่องทางออนไลน์ (Salter et al., 2014; Almaghaslah et al., 2018; O’Hare and Girvin, 2018; Lorenzoni et al., 2019; Lean et al., 2020) นอกจากการบรรยายออนไลน์แล้วยังมีกิจกรรมในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น forum, videoconferences, webinars (Lorenzoni et al., 2019)

โดยสรุปแล้วการเรียนการสอนออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์นั้นมีพัฒนาการมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากการจัดเตรียสื่อสำหรับวิชาเรียนแบบบรรยายแล้ว ยังมีกิจกรรมออนไลน์ที่มีลักษณะ interactive ทำให้เกิดการอภิปรายซึ่งกันและกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนอีกด้วย

ข้อดีและข้อเสียของการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

ข้อดีของการเรียนแบบออนไลน์มีหลายประการ แต่ที่สำคัญและโดดเด่นจากหลาย ๆ การศึกษา คือ ความสะดวกและความยืดหยุ่น (flexible) นิสิตสามารถเรียนจากที่บ้านได้ (O’Hare and Girvin, 2018; Lorenzoni et al., 2019; Lean et al., 2020) มีความน่าสนใจ เพราะมีการใช้สื่อที่เป็นวีดิโอ (Salter et al., 2014; Lean et al., 2020) ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองและนิสิตสามารถเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง กล่าวคือ หากอาจารย์สอนเร็วไปนิสิตสามารถหยุดวีดิโอและกลับไปฟังซ้ำได้ (O’Hare and Girvin, 2018) ในด้านประสิทธิภาพก็พบว่าการเรียนการสอนแบบนี้มีพอ ๆ กับการเรียนแบบในชั้นเรียน และมีประสิทธิภาพเหนือกว่าการไม่มีรูปแบบการเรียนการสอน (Salter et al., 2014; O’Hare and Girvin, 2018)

ข้อเสียของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ก็พบว่ามีรายงานเช่นกัน ที่สำคัญคือ ทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับอาจารย์ผู้สอน และอาจทำให้ผู้เรียนมีบุคลิกแบบแยกตัวได้ (isolation) ทั้ง ๆ ที่เภสัชกรจำเป็นต้องทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่น ๆ (O’Hare and Girvin, 2018; Lorenzoni et al., 2019) นอกจากนี้ยังมีข้อวิพากษ์เกี่ยวกับคุณภาพของสื่อที่ใช้นั้นส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนิสิตด้วย และบางครั้งการใช้สื่อออนไลน์นั้นมีความยุ่งยากสำหรับคนที่ไม่เก่งเทคโนโลยี (Salter et al., 2014; Lean et al., 2020) นอกจากนี้ยังสำหรับนิสิตที่ไม่สามารถเข้าถึง internet ได้ก็จะไม่สามารถเข้าถึงบทเรียนได้ (Lean et al., 2020) ในประเด็นนี้ Salter SM และคณะ (2014) ได้ระบุว่ายังไม่ค่อยมีการศึกษาที่ประเมินการยอมรับเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการเรียนออนไลน์อีกด้วย (Salter et al., 2014)

จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ข้างต้นนั้น ดูมีแนวโน้มว่าการเรียนการสอนแบบนี้มีประสิทธิภาพพอ ๆ กับการเรียนรูปแบบเดิม และดูเหมือนว่านิสิตนักศึกษาให้การยอมรับอยู่มาก แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ยอมรับอาจเนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือ internet อย่างไรก็ตามการศึกษาส่วนใหญ่นั้นทำในมุมมองของนิสิตนักศึกษา แต่ยังไม่พบว่ามีการศึกษาในมุมมองของผู้สอนและความพร้อมด้านเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย

ความเป็นไปได้ของการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์

จากวรรณกรรมข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์นั้นมีความเป็นไปได้ เพราะได้มีการทดลองใช้มาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก และดูมีแนวโน้มว่านิสิตส่วนใหญ่ให้การยอมรับวิธีการนี้ มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าวิธีการเรียนแบบนี้มีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าการเรียนในชั้นเรียน เป็นวิธีการที่สะดวกสำหรับนิสิตโดยเฉพาะในเรื่องช่วยลดภาระด้านการเดินทางและนิสิตสามารถฟังบทเรียนซ้ำ ๆ ได้บ่อยครั้งตามต้องการในกรณีที่เนื้อหายากและตามบทเรียนไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีข้อดีอีกประการคือช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองให้แก่นิสิตซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการทำงานในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามมีการศึกษาในประเทศ Saudi Arabia พบว่านิสิตที่เข้าร่วมการศึกษาชอบการเรียนในห้องเรียนมากกว่าเพราะต้องการได้พบปะกับอาจารย์แบบเผชิญหน้า ซึ่งผู้วิจัยได้อภิปรายไว้ว่านิสิตกลุ่มนี้มีความชอบการเรียนแบบ ‘spoon feeding’ มากกว่า (Almaghaslah et al., 2018) ดังนั้นในหลักสูตรเภสัชศาสตร์ที่เพิ่งเริ่มใช้การเรียนการสอนรูปแบบนี้อาจต้องช่วยปลูกฝังให้นิสิตเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตนเองและความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตามในหลักสูตรเภสัชศาสตร์นั้นมีเนื้อหาหลายอย่างที่ต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการและการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ ซึ่งการเรียนแบบออนไลน์น่าจะช่วยพัฒนาทักษะด้านนี้ได้อย่างจำกัด มีหลาย ๆ การศึกษาที่ได้เสนอแนะไว้ว่าหลักสูตรเภสัชศาสตร์อาจต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสานระหว่างแบบดั้งเดิมกับแบบออนไลน์เข้าด้วยกัน (Salter et al., 2014; O’Hare and Girvin, 2018; Lean et al., 2020) ซึ่งดูเหมือนว่าแนวคิดนี้น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับหลักสูตรเภสัชศาสตร์

การเรียนการสอนแบบออนไลน์ต้องมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น laptop, tablet, smart phone เป็นต้น และความสามารถในการเข้าถึง internet ที่เร็วและแรง ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมยังพบว่ามีการศึกษาในประเด็นนี้จำกัด ดังนั้นก่อนจะเริ่มใช้ระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้น คณะฯหรือมหาวิทยาลัยควรสำรวจความสามาถในการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ก่อน และหาทางออกให้แก่นิสิตที่อาจยังไม่พร้อมด้านนี้ เช่น มีระบบการให้ยืมอุปกรณ์ มีการจ่ายค่าชดเชยค่าบริการ internet ให้แก่นิสิต เป็นต้น

ความพร้อมของอาจารย์ผู้สอนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อคุณภาพการสอน จะเห็นได้จากมีข้อมูลชัดเจนว่าคุณภาพของสื่อนั้นส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ด้วย ดังนั้นคณะฯหรือมหาวิทยาลัยควรมีการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคนิคการจัดทำสื่อ หรือจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ไมโครโฟนคุณภาพดี กล้องวีดิโอ เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่อาจารย์ได้ผลิตสื่อที่มีคุณภาพได้ อย่างไรก็ตามกิจกรรมเหล่านี้ควรเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการใช้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์จริง ๆ

สรุป

การเรียนการสอนออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์นั้นมีพัฒนาการมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากการจัดเตรียมสื่อสำหรับวิชาเรียนแบบบรรยายแล้ว ยังมีกิจกรรมออนไลน์ที่มีลักษณะ interactive ทำให้เกิดการอภิปรายซึ่งกันและกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนอีกด้วย การเรียนการสอนแบบนี้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในการเพิ่มความรู้ให้ผู้เรียน แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการทั้งในส่วนของผู้เรียน ผู้สอน และความพร้อมด้านเทคโนโลยี แม้ว่าการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์จะมีความเป็นไปได้ แต่คณะฯและมหาวิทยาลัยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ทุกฝ่ายก่อนที่จะประกาศใช้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *