Phone

084-2721808

Email

pharmcare.p@msu.ac.th

Opening Hours

จันทร์-ศุกร์ : 8.30 - 16.30 น.

สมุนไพรปรับสมดุลของร่างกายในแต่ละฤดูกาล

รศ.ดร.สมศักดิ์ นวลแก้ว

ฟาร์มแคร์ฟาร์มาซูติคอล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

        ทฤษฎีทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่า ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ เมื่อไรที่ธาตุทั้ง 4  มีความสมดุลหรือประสานความร่วมมือกันทำงานอย่างกลมกลืนในการทำหน้าที่ ร่างกายก็จะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่มีความเจ็บป่วย แต่เมื่อไรก็ตามที่ธาตุทั้ง 4 ขาดความสมดุล ก็จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เกิดความเจ็บป่วยขึ้นได้ ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเกิดความไม่สมดุลมีทั้งปัจจัยภายในร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายหรือความเสื่อมของร่างกาย ก็เป็นสาเหตุทำให้สมุดลของร่างกายเปลี่ยนแปลงได้ หรือปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมของแต่ละคน ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลจนเกิดโรคต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ ปัจจัยจากภายนอก ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้เช่นเดียวกัน ทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยที่มนุษย์ไม่อาจแยกตัวออกจากธรรมชาติ การที่มนุษย์จะดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้ จะต้องดำเนินชีวิตอย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ อยู่อย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแปรเปลี่ยนไปของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมย่อมมีผลกระทบต่อธาตุในร่างกายมนุษย์ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ ทางการแพทย์แผนไทยจึงให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเสียความสมดุลทั้งปัจจัยจากภายนอกและปัจจัยภายในร่างกาย

            บทความนี้จะขอยกตัวอย่างปัจจัยภายนอกที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลและวิธีปรับสมดุลเนื่องจากปัจจัยดังกล่าว ปัจจัยภายนอกที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ ปัจจัยจากฤดูกาล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือที่เรียกว่า ฤดูสมุฏฐาน หมายถึง ฤดูกาลเป็นสมุฎฐาน (ปัจจัย) ทำให้เกิดความไม่สมดุลของร่างกาย ในทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่าฤดูกาลต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อความสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ในฤดูร้อน อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมจะสูง ทำให้อุณภูมิของร่างกายสูงไปด้วย อาจทำให้ธาตุไฟกำเริบได้ง่าย หรือในฤดูหนาว อุณหภูมิโดยทั่วไปจะเย็นมาก มีผลทำให้ร่างกายเย็นไปด้วย อาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้ ถ้าไม่ให้ความสมดุลแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูกาล เช่น ฤดูหนาวต่อฤดูร้อน หรือฤดูร้อนต่อฤดูฝน และฤดูฝนต่อฤดูหนาว อาจทำให้ร่างกายซึ่งมีความคุ้นเคยอยู่กับฤดูกาลหนึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศอีกแบบหนึ่ง ถ้าปรับตัวไม่ทันหรือร่างกายไม่แข็งแรงเพียงพอก็จะทำให้ร่างกายเสียสมดุลและเกิดโรคขึ้นได้ ประเทศไทยไทยแบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู ซึ่งเป็นการแบ่งฤดูกาลที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเมืองไทย ประกอบด้วย คิมหันตะฤดู (ฤดูร้อน) วัสสานะฤดู (ตำราบางเล่มเรียกวสันตฤดู) (ฤดูฝน) และเหมันตะฤดู (ฤดูหนาว) ฤดูกาลต่างกันจะมีอิทธิพลต่อธาตุทั้ง 4 แตกต่างกัน ดังนี้

        คิมหันตะฤดู (แรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) สภาวะแวดล้อมในช่วงเวลานี้จะมีผลกระทบต่อร่างกายโดยส่งผลให้ธาตุไฟจะกำเริบหรือพิการได้ง่าย

        วัสสานะฤดู (เริ่มตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12) สภาวะแวดล้อมในช่วงเวลานี้จะมีผลกระทบต่อร่างกายโดยส่งผลให้ธาตุลมจะกำเริบหรือพิการได้ง่าย

        เหมันตะฤดู (เริ่มตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึง ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 14) สภาวะแวดล้อมในช่วงเวลานี้จะมีผลกระทบต่อร่างกายโดยส่งผลให้ธาตุน้ำจะกำเริบหรือพิการได้ง่าย

เพื่อความเข้าใจความหมายของคำว่า ธาตุกำเริบ หย่อน พิการ จึงขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้

        ธาตุกำเริบ หมายถึงร่างกายในขณะนั้นมีกำลังของธาตุนั้นมากกว่าปกติ เช่น ธาตุไฟกำเริบ แสดงว่าร่างกายในขณะนั้นมีกำลังของธาตุไฟมากว่าปกติ ร่างกายอาจแสดงออกโดยการมีความร้อนในร่างกายสูง เช่น เป็นไข้

        ธาตุหย่อน หมายถึงร่างกายในขณะนั้นมีกำลังของธาตุนั้นน้อยกว่าปกติ เช่น ธาตุไฟย่อยอาหารหย่อน อาจแสดงออกถึงการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ เกิดท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ เหม็นเปรี้ยว

        ธาตุพิการ หมายถึง ธาตุนั้นมีความผิดปกติ มีการสูญเสียหน้าที่ บอกไม่ได้ชัดเจนว่ากำเริบหรือหย่อน หรือมีลักษณะของอาการทั้งกำเริบและหย่อนร่วมกัน

        จะเห็นว่าสภาวะแวดล้อมในแต่ละฤดูกาล สามารถส่งผลให้ร่างกายเราเสียสมดุลได้แตกต่างกัน ถ้าเราปล่อยให้ร่างกายเสียสมดุลไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถปรับความสมดุลด้วยตัวเองได้ (โดยทั่วไปเมื่อร่างกายได้รับปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุล ร่างกายจะปรับสมดุลด้วยตัวเองก่อนเสมอ ถ้าพิจารณาในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ความสมดุลของร่างกายเปรียบได้กับระบบภูมิคุ้มกันนั่นเอง) ร่างกายก็จะแสดงอาการเจ็บป่วยออกมาให้เห็น เป็นอาการต่าง ๆ ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น มีอาการไข้ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ หรืออาการโรคที่รุนแรง เช่น หอบหืด หรือโรคภูมิแพ้ หรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ โดยทั่วไป คนเรามักจะช่วยปรับสมดุลของร่างกายในกรณีที่มีปัจจัยมาจากสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่มีความรู้เรื่องสมดุลของร่างกายมาก่อนก็ตาม เช่น ในฤดูร้อน เราอาจปรับสมดุลของร่างกายโดยการลดความร้อนด้วยการอาบน้ำ เปิดพัดลม หรือเปิดแอร์ ถ้าอากาศเย็นก็จะปรับโดยการห่มผ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามการปรับสมดุลดังกล่าว ยังไม่เป็นการปรับสมดุลถึงระดับธาตุทั้ง 4 แต่เป็นการป้องกันไม่ให้สภาพแวดล้อมกระทบต่อร่างกายเท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันได้ตลอดเวลา ทางการแพทย์แผนไทย จึงได้คิดค้นสูตรตำรับสมุนไพรที่ช่วยปรับสมดุลของร่างกายในระดับธาตุ ซึ่งมีการใช้มานานแล้ว โดยการกำหนดพิกัดยา (กลุ่มยาสมุนไพร) ขึ้นมาเพื่อใช้ปรับธาตุในร่างกายให้สมดุลในแต่ละฤดูกาลดังนี้

        1) พิกัดตรีกฏุก ประกอบด้วย เหง้าขิงแห้ง เมล็ดพริกไทย ดอกดีปลี ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรรสร้อน เป็นพิกัดที่ใช้ในฤดูฝน เนื่องจากในฤดูฝนจะมีอากาศเย็น ควรใช้ยาที่มีรสร้อน จะช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้น

        2) พิกัดตรีสาร ประกอบด้วย รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน รากช้าพลู ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรรสร้อน เป็นพิกัดที่ใช้ในฤดูหนาว เนื่องจากอากาศค่อนข้างหนาว ควรใช้ยาที่มีรสร้อน จะช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้น

        3) พิกัดตรีผลา ประกอบด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม ใช้ในฤดูร้อน เนื่องจากสมุนไพรเหล่านี้จะช่วยลดความร้อนในร่างกาย

        ทางการแพทย์แผนไทยแนะนำให้รับประทานพิกัดยาเหล่านี้ในแต่ละช่วงฤดูกาล โดยเฉพาะตอนต้นของฤดูกาลนั้น ๆ เนื่องจากตอนต้นของฤดูกาล ร่างกายเรายังเคยชินกับสภาวะแวดล้อมในฤดูก่อนหน้า ยังปรับตัวไม่ได้กับฤดูกาลใหม่ หรือในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมรุนแรงของแต่ละฤดูกาลก็ได้ เช่น ช่วงอากาศร้อนจัด ช่วงอากาศเย็นจัด หรือช่วงอากาศหนาวจัด เป็นต้น ซึ่งพิกัดยาดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในรูปแบบยาต้มหรือยาผงบรรจุแคปซูล มีการแนะนำให้รับประทานดังนี้ คือ ในช่วงต้นของฤดูกาลหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมรุนแรงก็อาจรับประทานวันละ 3 ครั้ง แต่ในช่วงสภาวะแวดล้อมที่ไม่รุนแรงมากอาจลดลงวันละครั้งก็ได้ หรือลืมรับประทานบ้างก็ไม่เป็นไร และเมื่อสภาวะแวดล้อมเข้าสู่ภาวะปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานแล้ว หรือเราอาจสังเกตจากอุณหภูมิร่างกายของเราก็ได้ ถ้าเราเอาหลังมือสัมผัสหน้าผาก แล้วรู้สึกว่าตัวร้อน ก็สามารถรับประทานพิกัดตรีผลาได้ หรือถ้าสัมผัสแล้วรู้สึกว่าตัวเย็น ก็สามารถรับประทานพิกัดตรีกฏุก หรือพิกัดตรีสารได้

        ท้ายนี้หวังว่าทุกท่านคงจะได้แนวทางในการปรับสมดุลของร่างกายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลไปใช้ในการดูแลตนเองหรือคนที่เรารักกันนะครับ อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น ถ้าร่างกายเราสมดุลอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่จะเกิดโรคต่าง ๆ น้อยลงไปมาก ถ้าท่านใดอยากมีสุขภาพที่ดีไปนาน ๆ ลองนำไปปฏิบัติดูนะครับ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการปรับสมดุลร่างกายเนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ ด้วยตนเองอีกมาก