Phone

084-2721808

Email

pharmcare.p@msu.ac.th

Opening Hours

จันทร์-ศุกร์ : 8.30 - 16.30 น.

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและความปลอดภัยของยาห้าราก

     โดย รองศาสตราจารย์สมศักดิ์  นวลแก้ว

         ยาห้ารากเป็นตำรับยาแผนโบราณ ประกอบด้วย รากชิงชี่  (Capparis micracantha DC.) รากย่านาง  (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) รากเท้ายายม่อม (Clerodendrum indicum (L.) Kuntze) รากคนทา (Harrisonia perforata (Blanco) Merr.) และรากมะเดื่อชุมพร (Ficus racemosa L.) สรรพคุณ ใช้กระทุ้งพิษไข้ต่าง ๆ หรือถอนพิษต่าง ๆ แก้ไข้ต้นมือ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัว แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต (กองการประกอบโรคศิลปะ, 2542a) ใช้รักษาอาการไข้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยมีชื่อเรียกตำรับยานี้หลายชื่อได้แก่ ยาเบญจโลกวิเชียร ยาแก้วห้าดวง และยาเพชรสว่าง (กองการประกอบโรคศิลปะ, 2542) ในหนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำรายาแผนไทยที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐาน ได้กล่าวถึงสรรพคุณของยาห้ารากในการรักษาอาการไข้ไว้ในคัมภีร์ตักศิลา โดยให้ใช้ตำรับยานี้เพื่อกระทุ้งพิษไข้ (การทำให้พิษไข้ถูกขับออกมาภายนอก) ให้ออกมาก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงใช้ยาตำรับอื่น ๆ ต่อไป โดยใช้กับไข้พิษ ได้แก่ ไข้รากสาด ไข้อีดำอีแดง ไข้มาลาเรีย ไข้มหาเมฆ ไข้มหานิล เป็นต้น อาการทั่วไปของพิษไข้ คือปวดศีรษะ ตัวร้อนจัดประดุจเปลวไฟ ปากแห้ง ฟันแห้ง น้ำลายเหนียว ตาแดงคล้ายสายเลือด ร้อนใน กระหายน้ำ มือเท้าเย็น มีเม็ดขึ้นตามร่างกาย เม็ดนั้นเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สีต่าง ๆ กัน ดำก็มี แดงก็มี เขียวก็มี เป็นต้น (กองการประกอบโรคศิลปะ, 2542b และ บุษบา, 2542)

          ยาห้าราก เป็นตำรับยารักษาอาการไข้ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีส่วนประกอบและวิธีใช้ดังนี้

สูตรตำรับ ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากไม้เท้ายายม่อม หนักสิ่งละ 20 กรัม

ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไข้

ขนาดและวิธีใช้

ชนิดผง

          ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

          เด็ก อายุ 6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

ชนิดแคปซูลและชนิดเม็ด

          ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

          เด็ก อายุ6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

ข้อควรระวัง

          - ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก

          - หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

          - ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน (คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ, 2559

 

อ่านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เพิ่มเติม >> http://pharmacy.msu.ac.th/pharmcare/wp-content/uploads/2022/04/ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและความปลอดภัยของยาห้าราก.pdf