Phone

084-2721808

Email

pharmcare.p@msu.ac.th

Opening Hours

จันทร์-ศุกร์ : 8.30 - 16.30 น.

ตรีผลา


โดย รองศาสตราจารย์สมศักดิ์  นวลแก้ว

      “ตรีผลา” (แพทย์แผนไทยนิยมอ่านว่า ตรี-ผะ-หลา) แปลว่า ผลไม้สามอย่าง ได้แก่ สมอไทย (Terminalia chebula Retz.) สมอพิเภก (Terminalia bellerica Roxb.) และมะขามป้อม (Phyllanthus emblica Linn.) ซึ่งมีประวัติการใช้ที่ยาวนานในการดูแลสุขภาพของการแพทย์อายุรเวทอินเดียและทางการแพทย์แผนไทย (ชยันต์ พิเชียรสุนทร และคณะ, 2558) การนำสมุนไพร 3 อย่างนี้มาผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากันทางการแพทย์แผนไทยเรียกเรียกว่าพิกัดตรีผลา แต่ถ้านำมารวมกันในอัตราส่วนที่ไม่เท่ากันเรียกว่า“มหาพิกัด” เพื่อใช้ให้เหมาะสมกับสมุฏฐานของแต่ละโรค

              ตรีผลาในการแพทย์อายุรเวทอินเดียถูกอธิบายว่าเป็น “tridoshicrasayan” เกี่ยวข้องกับความสมดุลของร่างกายขององค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ วาตะ (Vata) ปิตตะ (Pitta) และ คะฟา (Kapha) (Irani & Khaled, 2015) ซึ่งมีการใช้ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ แบบผง (Triphala churna) แบบต้ม (Triphala kwatha) แบบน้ำมัน (Triphala taila) แบบเถ้า (Triphala masi) และแบบในเนยใสหรือเนยแข็ง (Triphala gritha) (Baliga et al., 2012) การแพทย์อายุรเวทอินเดียยกย่องให้เป็นสมุนไพรที่โดดเด่นในด้านการปรับสมดุลธาตุ สามารถบำรุงและฟื้นฟูร่างกายองค์รวมทุกระบบให้แข็งแรง และทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ (Wissakdilok, 2012) อีกทั้งใช้ในการรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารหลายชนิด มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตำรับตรีผลา พบว่าตำรับตรีผลามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายชนิด ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน กระตุ้นความอยากอาหาร ลดกรดในกระเพาะอาหาร ป้องกันฟันผุ ลดไข้ แก้ปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดน้ำตาล ต้านมะเร็ง ปกป้องตับจากการฉายรังสีและการให้เคมีบำบัด และช่วยลดผลข้างเคียงจากการได้รับเคมีบำบัด ตำรับตรีผลาอาจช่วยเรื่องการย่อยอาหารและการดูดซึมของอาหารให้เหมาะสม ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ปรับปรุงการไหลเวียน ผ่อนคลายท่อน้ำดี ระบบต่อมไร้ท่อและเพิ่มการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบิน (พร้อมจิต ศรลัมพ์, 2551)

 

อ่านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เพิ่มเติม >> http://pharmacy.msu.ac.th/pharmcare/wp-content/uploads/2022/04/ตรีผลา.pdf